๑๔.๘.๕๑

ผู้ยิ่งใหญ่-ตัวตนและอุดมคติของโกวเล้ง


ในหนังสือ "เดียวดายใต้เงาจันทร์" ปรัชญานิพนธ์ของโก้วเล้งซึ่งแปลความและเรียบเรียงโดยเรืองรอง รุ่งรัศมีนั้น

อธิบายความคับแค้นของ "มังกรโบราณ" ในความเป็นนักเขียนนิยายกำลังภายในของตนตลอดมา

เพราะในสายตาของผู้คนจำนวนมาก นิยายกำลังภายในมิเพียงไม่ใช่วรรณกรรม กระทั่งยังไม่อาจนับเป็นนวนิยาย

ในความเศร้าเสียใจ "โก้วเล้ง" จึงหวังว่าอนาคตนิยายกำลังภายในจะได้รับการยึดถือเป็น "นวนิยาย" เช่นเดียวกับหนังสือประเภทอื่น

วันนี้ นิยายกำลังภายในถือว่ามี "ที่ยืน" อยู่ในวงวรรณกรรมอย่างไม่อายใคร และถ้าเป็นการสร้างสรรค์จากโก้วเล้งด้วยแล้ว กล่าวได้ว่าได้รับการตอบรับอย่างดียิ่ง

เรื่องอย่างฤทธิ์มีดสั้น จับอิดนึ้ง วีรบุรุษสำราญ เซียวฮื้อยี้ ซาเสียวเอี้ยว ดาวตก ผีเสื้อ กระบี่ ถือเป็นงานคลาสสิกระดับขึ้นหิ้ง

แต่หลายเล่มเป็นเหมือนดาวตก ที่ส่องประกายเจิดจ้าเพียงวูบเดียวแล้วลับหาย

อีกจำนวนหนึ่งที่แม้ไม่ถือเป็นผลงานชั้นเลิศ เนื่องจากธรรมดาเกินไป คาดเดาง่ายเกินไป แต่กลับมีเรื่องราวที่สะท้อนตัวตน ทรรศนะในการมองโลกของมังกรโบราณไว้อย่างแจ่มชัด

"ผู้ยิ่งใหญ่" คืองานในลักษณะนี้

หากจัดอันดับความยอดเยี่ยม ลึกล้ำ อย่าได้แปลกใจเลยหากว่าจะไม่เห็น "ไต้นั้งม้วย" อยู่ในทำเนียบรายชื่อนี่ไม่ใช่งานอันลึกซึ้ง คมคาย หรือมีความแปลกใหม่ เต็มไปด้วยพลังดึงดูดอันเร้าใจ

แต่เป็นงานที่ผู้อ่านระดับ "คอ" ไม่ควรมองผ่านได้โดยเด็ดขาด

เป็นงานที่นำเอาเปลือกและตัวตนแห่งความโกว้เล้งออกมาตีแผ่แค่โก้วเล้งเอาบุคคลิกของตัวเองมาสร้างเป็นตัวเอกของเรื่องก็น่าสนใจแล้ว-ไม่ใช่หรือ

หากอยากรู้ว่ามีความเป็นโก้วเล้งมากเพียงไร ให้ดูที่ "เอี้ยฮ้วม" เอาเถิด

"มันเป็นบุรุษร่างเตี้ย อ้วนกลม ดวงตาเรียวยาว ขนคิ้วกว้างกว่าคนธรรมดากว่าเท่าตัว ปากของมันกว้างอย่างยิ่ง หัวยิ่งโตใหญ่กว่ามันคือบุตรของเอี๊ยซาเอี๊ยแห่งไต้เม้งฮู้ คือคนที่ชั้งซือซือมักได้ยินว่ามันเป็นตัวประหลาดผิดมนุษย์ ฟังว่าในสิบวันมักยากจะมีสติแจ่มใสสักวันหนึ่ง ยามสติแจ่มใสมันอยู่ในวัดหลวงจีน ยามเมามายอยู่ในซ่องคณิกา"

ลักษณะร่างเตี้ย อ้วนกลม หัวโต ไม่ใช่โก้วเล้งแล้วจะเป็นใครไปได้

เปลือกนอกที่ "หัวโต อ้วนเตี้ย "มักถูกเขียนถึงในนิยายกำลังภายในอย่างดูถูกดูแคลนอยู่เนืองๆ แม้กระทั่งโก้วเล้งเองก็มิได้ละเว้นที่จะเขียนถึงรูปลักษณ์ของตัวเองด้วยความขมขื่นลึกๆ

ในเซียวฮื้อยี้ที่กล่าวถึงตัวละครฮาฮายี้ "ซ่อนดาบในรอยยิ้ม" ซึ่งเป็นหนึ่งในสิบคนโฉด โกวเล้งเขียนไว้ว่าสาเหตุที่ฮาฮายี้ต้องมาฝังตัวอยู่ในหุบเขาคนโฉดก็เพราะฆ่าล้างครอบครัวของอาจารย์ตัวเองเพียงเพราะศิษย์น้องคนหนึ่งดุด่าเป็น "สุกรอ้วน" เท่านั้น

"ความอ้วน" ในยุทธจักรนิยายไม่ใช่เป็นตัวดีอะไรเลยหรือ-โก้วเล้งคงอยากถามกับตัวเอง

และในอีกความหมายหนึ่งคนที่ถูกเรียกขานว่า "ปีศาจหัวโต" ก็คือคนที่เสียเปรียบที่ถูกเยาะเย้ยตลอดเวลา เป็นคนที่ถูกหลอกลวงอยู่เสมอ

ซึ่งเป็นสิ่งที่ "มังกรโบราณ" มักพร่ำบ่นผ่านตัวหนังสือว่าความขมขื่นในชีวิตของตัวเองก็คือการถูกผู้คนหลอกลวง เหยียบย่ำดูถูกครั้งแล้วครั้งเล่า

บางทีความคับแค้นหลายประการดังที่กล่าวมาอาจทำให้โก้วเล้งสร้างสรรค์ตัวละครอย่าง "เอี้ยฮ้วม" ขึ้นมาเป็นเอี้ยฮ้วมที่ทั้งหัวโต อ้วนเตี้ยไม่ผิดเพี้ยนไปจากตือโป๊ยก่ายแต่ถึงจะเป็นตือโป๊ยก่ายแต่ก็เป็นตือโป๊ยก่ายที่มีสมองอย่างยิ่ง

และยังเป็นจอมยุทธ์เหนือจอมยุทธ์อีกด้วย

เป็น "ปีศาจหัวโต" ที่ได้เป็น "ผู้ยิ่งใหญ่" สมใจ

ถึงเปลือกนอกจะเปลี่ยนไป แต่ "เปลือกใน" ของเอี้ยฮ้วม ยังเป็นตัวละครที่เปี่ยมอุดมคติในแนวทางเดียวกันกับการสร้างสรรค์ "ลี้คิมฮวง" "เล็กเซี่ยวหงส์" เช่นกัน

นอกจากจะเป็นเรื่องที่นำเอาตัวตนของตัวเองเข้าไปตีแผ่แล้ว "ผู้ยิ่งใหญ่" ยังแสดงให้เห็นถึงอุดมคติของมังกรโบราณไว้อย่างแจ่มชัด

โกวเล้งคงมีความคาดหวังลึกๆให้ "ผู้ยิ่งใหญ่" เป็นเหมือน "สาร" ที่ส่งต่อไปยังผู้อ่านว่า ไม่สมควรมองคนที่เปลือกนอก

การเป็นวีรบุรุษในมุมมองของโก้วเล้งไม่ใช่ความสมบูรณ์แบบ ไม่ใช่สิ่งน่าภาคภูมิไปเสียทั้งหมด

เหมือนอย่าง "ฉิ่นกอ" บุรุษหนุ่มผู้ผูกแพรแดงไว้ที่คอคนนั้น

ฉิ่นกอได้รับการยกย่อง เทิดทูนให้เป็นผู้ยิ่งใหญ่

แต่ถึงอย่างไรวีรบุรุษก็มีด้านมืด มีความอ่อนไหว ข้อบกพร่องเหมือนมนุษย์ธรรมดาเช่นกัน

และโก้วเล้งก็แสดงความนึกคิดในเรื่องนี้ไว้อย่างคมคายว่า "มนุษย์เรา เพียงแลเห็นเกียรติภูมิและอำนาจของขุนพลอันยิ่งใหญ่ โดยลืมไปถึงซากกระดูกที่สุมทับเป็นหมื่นๆพันๆในสนามรบ"

กล่าวถึงที่สุด "ผู้ยิ่งใหญ่" ที่แท้จริงสมควรเป็นบุคคลเช่นไรมนุษย์เหล็ก

"ฉิ่นกอ" ผู้กล้าหาญและรักหนักแน่นกล่าวได้ว่ามีคุณสมบัติเพียงพอ

แต่ถึงอย่างนั้น "ทินั้ง" กลับยอมรับว่ามันเองยังไม่เหมาะสมกับตำแหน่งนี้กล่าวถึงเกียรติภูมิ ความชาญฉลาด ลิ่วฮวงกุกเหมาะสมกับเกียรติอันสูงส่งนี่มากที่สุดแต่นั่นเป็นแค่เปลือกนอก

เนื้อแท้แล้วลิ่วฮวงกุกคือกั๊วซิงแซผู้ก่อตั้งขบวนการอธรรมชิกไฮ้อันชั่วร้าย จึงไม่คู่ควรกับเกียรติยศอันใดเลยผู้ยิ่งใหญ่ที่แท้จริงกลับกลายเป็นบุรุษที่ธรรมดาสามัญ แถมขี้ริ้วอย่าง "เอี้ยฮ้วม" ไปเสียได้

เปลือกนอก "ปีศาจหัวโต" ผู้นี้เป็นเพียงทายาทตระกูลใหญ่ ทั้งยังเป็นผู้เชี่ยวชาญในสุรา นารี กีฬาบัตร

แต่ในอีกด้านหนึ่ง คือผู้ก่อตั้งขบวนการซั้วลิ้วที่จัดตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายพิทักษ์คนดี กำจัดคนชั่ว อุทิศตัวเพื่อเพื่อนมนุษย์

เสียสละตัวเองโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน

แล้วอะไรคือการเสียสละตัวเอง

มังกรโบราณเคยอธิบายไว้ว่า"การเสียสละตัวเองคือการห้ามความโกรธของตัวเอง อดทนต่อความผิดพลาดของผู้อื่น ลืมเลือนสิ่งที่ผู้อื่นทำร้ายตัวเอง ปลูกฝังดวงใจแห่งรักต่อผู้อื่น"

"คาวเลือดและความรุนแรงในโลกนี้ยากจะสะกดระงับได้ ทั้งนี้เพราะการเสียสละเรื่องราวใดล้วนง่ายดายดาย แต่การเสียสละตัวเองยากเย็นแสนเข็ญ"

นี่คืออุดมคติของโกวเล้ง และเป็นคุณสมบัติที่แท้จริงของ "ผู้ยิ่งใหญ่"

"ไต้นั้งม้วย" เขียนขึ้นมาเมื่อปี 2514 แต่ยังมีแนวคิดที่ทันสมัย ไม่ตกรุ่นแต่อย่างใด

กล่าวได้ว่าสอดคล้องกับความเป็นไปในโลกอย่างยิ่ง

เพียงแต่ว่าในโลกวันนี้ บุรุษชั่วร้ายอย่างลิ่วฮวงกุกไม่เพียงแต่มี "ที่ยืน" อยู่ในสังคมได้อย่างสง่างามเท่านั้น แต่ยังได้รับการยอมรับเป็น "ผู้ยิ่งใหญ่" ในระดับผู้นำของโลกเลยทีเดียว

ส่วนคนเยี่ยง "เอี้ยฮ้วม" แม้จะมีอยู่บ้าง แต่ก็กลายเป็นเหมือน "คนนอก" ที่สังคมโดยรวมดูจะไม่ใยดีกระไรนัก

ถ้าเป็นสังคมไทยก็อาจเข้าข่ายพวกเอ็นจีโอ หรือคณะกรรมการสมานฉันท์ อะไรประมาณนั้นนั่นแหละ

แค่คิดก็เศร้าแล้ว

คำครูสอน

มีหนังสืออยู่เล่มหนึ่งที่ผมชอบมาก สามารถอ่านได้หลายหน หลายวาระและแนะนำให้เพื่อนฝูงได้อ่านหรือซื้อเอาไว้ในครอบครองอยู่เนืองๆ

หนังสือเล่มดังกล่าวมีชื่อว่า Tuesdays With Morrie

ซึ่งฉบับแปลไทยโดยอมรรัตน์ โรเก้ ตั้งชื่อไว้ว่า "วันอังคารแห่งความทรงจำกับครูมอร์รี่"

แม้กระแสความโด่งดังของหนังสือจะผ่านไปนานโขอยู่ การหยิบเอามาพูดถึงอีกครั้งอาจจะ "เชย" ไปบ้าง แต่ก็มีประเด็นบางอย่างในหนังสือที่สอดคล้องกับความเป็นไปของโลกปัจจุบันได้ดี

หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นโดย มิตช์ อัลโบม ซึ่งเป็นนักข่าวกีฬาของหนังสือพิมพ์Detroit Free Press เป็นเรื่องจริงของ "มอร์รี่ ชวอตซ์" ซึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ผู้เขียนเคยศึกษาอยู่นั่นเอง

ครูมอร์รี่ป่วยเป็นโรคที่รักษาไม่ได้และได้แต่เฝ้านอนรอวันตาย แต่ในห้วงเวลานั้นเองมิตช์ได้มีโอกาสกลับมาเยี่ยมครูของเขา และได้มีช่วงเวลาอยู่ร่วมกันระยะหนึ่งก่อนถึงวันแตกดับของผู้เป็นครู

และบทสนทนาทุกวันอังคารระหว่างครูและศิษย์ได้กลายมาเป็นหนังสือ Tuesdays With Morrie เล่มนี้นี่เอง

"สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตก็คือการเรียนรู้ที่จะแบ่งปันความรักให้แก่ผู้อื่น และการเปิดรับให้ความรักเข้ามา" นั่นคือถ้อยคำประโยคหนึ่งที่คุณครูมอร์รี่กล่าวย้ำกับลูกศิษย์เสมอ

ในหนังสือ "วิหารที่ว่างเปล่า" ของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในบทความเรื่อง"อารมณ์ตะวันตก"มีการหยิบยกหนังสือ Tuesdays With Morrie ขึ้นมาเขียนถึงด้วยความชื่นชมเช่นกัน มีความว่า

"คำตอบที่มอร์รีมีต่อโลกและชีวิตไม่ได้เหมือนกับกระแสหลักที่ชี้นำสังคมอเมริกันอยู่เลย มอร์รี่เน้นเรื่องความรักและความเมตตาที่มนุษย์พึงมอบให้กัน และยอมรับการเกิดแก่เจ็บตายได้อย่างสง่างาม..."

กล่าวถึงที่สุดแล้ว ถ้อยคำสนทนาระหว่างอาจารย์-ลูกศิษย์คู่นี้คือการมองย้อนชีวิตในทุกๆด้าน รวมทั้งยังกล่าวถึงความตายได้อย่างลึกซึ้ง เปี่ยมความหมาย

ด้วยความชื่นชอบเป็นส่วนตัว ทำให้ผมสนใจเรื่องราวของ มิตช์ อัลโบม ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ และตามอ่านเรื่องราวที่เขาเขียนไว้ตามแหล่งข้อมูลที่พอจะค้นหาได้อยู่เนืองๆ

ว่าไปแล้วมิตช์ อัลโบม น่าจะเป็นแบบฉบับของ "อเมริกัน ดรีม" ได้อย่างสมบูรณ์แบบคนหนึ่ง

หลังจากจบการศึกษาที่มหาวิทยาลัยแบรนดีสซึ่งเป็นสถานที่ที่ทำให้เขาได้พบกับคุณครูมอร์รี่แล้ว มิตช์เริ่มต้นชีวิตการทำงานเมื่อปี 1981 ด้วยการเป็นผู้สื่อข่าวกีฬาให้กับหนังสือพิมพ์ Queens Tribune ในนิวยอร์ก ก่อนจะลงหลักปักฐานกับ Detroit Free Press ในปี 1985 มาจนถึงปัจจุบัน

แม้จะเป็นเพียงนักข่าวกีฬา แต่ทรรศนะ การมองโลกของมิตช์มีความลึกซึ้ง มีความโดดเด่นเฉพาะตัว ในรายงานของมิตช์มักจะให้ความสำคัญกับชีวิตและความเป็นมนุษย์

แม้จะเป็นซูเปอร์สตาร์ที่มีรายได้ปีละหลายร้อยล้าน แต่เขามักจะแจกแจงให้เห็นว่าชีวิตของสุดยอดนักกีฬาก็เป็นเหมือนปุถุชนทั่วไปเช่นกัน มีความผิดพลาด เหงา เศร้า มีด้านที่สมหวัง แต่ก็มีด้านที่ขื่นขมเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ชื่อของมิตช์ อัลโบม จึงได้รับการยอมรับในเวลาอันรวดเร็ว ได้รับการเสนอชื่อเป็นคอลัมนิสต์กีฬาอันดับ 1 ของสหรัฐเป็นเวลาหลายปี และมีงานเขียนปรากฎในหนังสือดังๆมากมายไม่ว่าจะเป็น Sport Illustrted ,GQ, Sport, The Newyork Times

ไม่เพียงแต่เท่านั้น มิตช์ยังจัดรายการทางวิทยุ มีรายการทอล์กโชว์ทางโทรทัศน์เป็นของตัวเอง รวมทั้งยังเป็นนักดนตรี เป็นนักแต่งเพลง ซึ่งล้วนแต่ทำได้ดีทั้งสิ้น

และหลังจากออกหนังสือ Tuesdays With Morrie จนกลายเป็นหนังสือเบสต์ เซลเลอร์สขายดิบขายดีไปทั่วโลก เขาจึงได้รับการยอมรับในฐานะ "นักเขียน" อีกสถานะหนึ่ง

คอลัมน์ของมิตช์ในหนังสือพิมพ์ Detroit Free Press มีตีพิมพ์ทุกวัน แต่ในฉบับวันอาทิตย์เขามักจะฉีกแนวหันไปพูดถึงเรื่องหนัง ดนตรี ศิลปะ ครอบคลุมไปถึงการเมือง ปรัชญาและการดำเนินชีวิต ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากความสามารถและความสนใจอันหลากหลายนั่นเอง

แน่นอน,ด้านหนึ่งในฐานะผู้เขียน Tuesdays With Morrie ทำให้ข้อเขียนในคอลัมน์ของมิตช์ใน Detroit Free Press มีน้ำหนักอยู่พอสมควร นอกจากนั้น มิตช์ อัลบอมยังมีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง มีบทความ มีบทสัมภาษณ์ ข้อมูลอันมีสาระอยู่มากมาย

เรื่องที่เขาเขียนถึง หรือหยิบมาพูดคุยผ่านเว็บไซต์ของตัวเองบ่อยหนในระยะหลังก็คือสงครามสหรัฐ-อิรัก แม้จะมีพื้นฐานเป็นเพียงแค่นักข่าวกีฬา แต่มิตช์ก็วิเคราะห์สงครามหนนั้นได้อย่างลึกซึ้ง

หลายเรื่องทำได้ดีกว่านักข่าวของสำนักข่าวใหญ่อย่างซีเอ็นเอ็น-บีบีซีด้วยซ้ำไป หลายเรื่องช่วยต่อยอดความคิดได้ดี

แต่บางบทความ ทำให้ผมรู้สึกว่ามิตช์ก็ยังคงเป็นเหมือนคนอเมริกันส่วนมากที่เชื่อมั่น และภาคภูมิในความเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ของประเทศสหรัฐอเมริกา

รวมทั้งยังมีอาการปริวิตก ขี้กลัวและหวาดผวาต่อศัตรูนอกประเทศเหมือนเพื่อนร่วมชาติส่วนมากอีกด้วย

ครั้งหนึ่ง,ในช่วงสงคราม มิตช์เขียนบทความเรื่อง He can never really leave iraq behind เป็นบทสัมภาษณ์ด็อกเตอร์กาซี่ จอร์จ ศาสตรจารย์ชาวอิรักที่อพยพมาจากแบกแดดเมื่อ 22 ปีก่อนและมาใช้ชีวิตอยู่ในมิชิแกน ซึ่งกล่าวโจมตีความเลวร้ายของรัฐบาลอิรักภายใต้การนำของซัดดัม ฮุสเซนอย่างไม่มีชิ้นดี "ผมเป็นหนึ่งในคน 20 ล้านที่มาจากอิรัก และเรามี 20 ล้านเหตุผลที่สมควรกำจัดซัดดัม ผมต้องการบอกให้รู้ว่าอะไรที่อเมริกาทำเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ผมต้องการขอบคุณพวกเขา..."

แม้ในบทความนี้มิตช์จะไม่แสดงความเห็นด้านใดอย่างเด่นชัด แต่ดูเหมือนว่ามิตช์ได้ให้คำตอบบางประการออกมา ใช่-ซัดดัมคือความเลวร้าย แต่บางทีนักข่าวมือดีของ Detroit Free Press อาจลืมไปว่า การก้าวขึ้นสู่อำนาจของซัดดัมนั้นเริ่มต้นเพราะการหนุนส่งจากรัฐบาลอเมริกัน-ไม่ใช่หรือ

และการบุกยึดประเทศอิรักของสหรัฐก็เป็นการกระทำที่ไม่ชอบธรรมเช่นเดียวกัน ถ้าซัดดัมคือซาตานร้าย แล้วจอร์จ บุชเล่า-มีอะไรต่างกัน

เปล่า,ผมไม่คิดว่ามิตช์จะทำอะไรผิด เพียงแต่เขาอาจจะหลงลืม หรือละเลยความจริงบางอย่างไปเท่านั้น มันอาจจะเหมือนช่วงเวลากว่า 16 ปีที่มิตช์เหมือนหลงอยู่ในความมืด หลงทาง ก่อนจะพบคำตอบของชีวิตเมื่อเจอกับครูของเขาอีกครั้งนั่นเอง

และด้วยความรู้สึกบางอย่างที่ติดค้างอยู่ในใจ ทำให้ผมหยิบ Tuesdays With Morrie ขึ้นมาอ่านอีกครั้ง ที่แม้สงครามสหรัฐ-อิรัก ผ่านพ้นไปนานแล้ว แต่สถานการณ์ในประเทศไทยกำลังยุ่งเหยิง คุกรุ่นด้วยความขัดแย้งหลายประการ

น่าแปลกที่ผมพานพบว่าคุณครูมอร์รี่ได้พูดอะไรบางอย่างเอาไว้ ซึ่งยังคงความหมายสามารถนำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในสังคมที่กำลังป่วยไข้

และนี่คือถ้อยคำของคุณครูมอร์รี่ที่ผมอยากให้ทุกคนได้อ่าน-อีกครั้ง บางที-เราอาจได้ค้นพบความหมายของคำว่า "ชีวิต" ร่วมกันก็เป็นได้

จิตวิญญาน

"มิตช์,อะไรต่อมิอะไรที่เธอทุ่มเวลาไปตั้งมากมาย งานทั้งหลายทั้งปวงที่ทำอยู่นี่มันอาจจะไม่สำคัญเท่าใดนัก เธออาจจะต้องเผื่อที่ว่างไว้สำหรับจิตวิญญานให้มากขึ้น"

"จิตวิญญานหรือครับ"

"มิตช์,แม้ครูเองจะยังไม่รู้ว่าการพัฒนาทางจิตวิญญานนั้นมีความหมายอย่างไร แต่ครูรู้ว่าเรายังขาดอะไรบางอย่างไป เรามักหมกมุ่นอยู่กับโลกที่เป็นวัตถุนิยมมากจนเกินไปทั้งๆที่มันก็ไม่ทำให้เราพอใจได้เลย แต่ในเรื่องความรัก ความสัมพันธ์ที่เรามีหรือโลกรอบๆตัวเรา เรากลับเพิกเฉยไม่ใส่ใจ"



ความรัก

"มิตช์,คนในประเทศเราเหมือนกับถูกล้างสมอง ในชีวิตของครู ไม่ว่าครูจะไปทางไหน ครูพบแต่คนที่ตะเกียกตะกายอยากจะได้อะไรใหม่ๆอยู่เสมอ อยากได้รถคันใหม่ สมบัติชิ้นใหม่ รู้ไหมว่าครูแปลความหมายในเรื่องแบบนี้ว่าอย่างไร ครูว่าคนพวกนี้กระหายความรักมากเสียจนยอมรับอะไรก็แต่ที่จะมาทดแทนความรักนั้นได้" "เงินทองไม่สามารถทดแทนความรักได้ และอำนาจก็ไม่อาจทดแทนความรักได้เช่นกัน

ครูสามารถบอกกับเธอได้ในขณะที่ครูกำลังนั่งรอความตายอยู่นี่ เมื่อเธอต้องการความรัก เธอไม่สามารถหาได้จากเงินทองหรืออำนาจได้เลย"



การอุทิศตัว

"จำที่ครูพูดเรื่องการแสวงหาชีวิตที่มีความหมายได้ไหม ครูเคยจดเอาไว้ แต่ตอนนี้ครูจะท่องให้ฟัง ' จงอุทิศตนเพื่อมอบความรักแก่ผู้อื่น จงอุทิศตนให้กับชุมชนที่เธออาศัยอยู่ และจงอุทิศตนเพื่อสร้างสร้างสิ่งที่จะนำเป้าหมายและความหมายมาสู่เธอ'



วัฒนธรรมของเรา



"คนเราจะร้ายก็ต่อเมื่อถูกทำให้กลัว มิตช์" "นั่นคือสิ่งที่วัฒนธรรมของเราทำกับเรา และคือสิ่งที่เศรษฐกิจของเราทำกับเรา แม้แต่คนที่มีการมีงานทำก็ยังกลัวที่จะตกงาน เมื่อเธอเกิดความรู้สึกกลัว เธอก็จะเริ่มระมัดระวังตัวมากขึ้นและปกป้องแต่ตัวเอง ทั้งหมดนี้มาจากวัฒนธรรมของเราทั้งสิ้น?



ความตาย



"มิตช์ ปัญหามันอยู่ตรงที่เราไม่ได้เชื่อว่า จริงๆแล้วคนทุกคนก็เหมือนกัน ถ้าเรามองเห็นว่าเราทุกคนก็เหมือนๆกันแล้ว เราคงมีความปราถนาอย่างแรงกล้าที่จะรวมโลกทั้งโลกให้เป็นเสมือนครอบครัวใหญ่เพียงครอบครัวเดียว และห่วงใยใส่ใจต่อกันเหมือนอย่างที่เราห่วงใยใส่ใจคนในครอบครัวของเราเอง"

"แต่เชื่อครูเถอะ เวลาที่เธอกำลังจะตาย เธอจะเห็นว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ เราทุกคนล้วนมีจุดเริ่มต้นที่การเกิดเหมือนกัน และมีจุดจบที่ความตายเช่นเดียวกัน"

ถ้อยความเหล่านี้ใครอ่านก็เข้าใจได้ง่าย ไม่ต้องปีนกระไดอ่านถึงจะเข้าใจ จะจบป.4 หรือเป็นโคตรเศรษฐี ก็น่าได้อ่านนะ ผมว่า